CILT งานสำหรับป้องกันเครื่องจักรเสีย (Cleaning, Inspection, Lubrication, Tightening)

เครื่องจักรเสียครับหัวหน้า ทำยังไงดี แจ้งซ่อมสิครับรออะไร เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ยิ่งไปกว่านั้นอาการเริ่มหนักขึ้นจากหยุด 5-10 นาที่ เป็นชั่วโมงและเป็นวันๆ ผมเองได้ฟังมาจากผู้จัดการผลิตที่ขอให้ผมลงไปช่วยดูว่าจะแก้ไขอะไรได้บ้าง

ผมเองได้สอบถามพนักงานในพื้นที่หลายคำถามเช่น

  • เมื่อเครื่องจักรเสียทำอย่างไร ?
  • ก่อนและหลังใช้เครื่องจักรทำอย่างไร ?
  • ทำความสะอาดเครื่องจักรทำอย่างไร ?

ซึ่งได้คำตอบว่า “ แจ้งซ่อมครับ และผมมีหน้าหน้าเปิด-ปิดเครื่อง ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ ทำความสะอาด ”  จากนั้นผมได้ถามคำถามเดิมนี้กับส่วนงานซ่อมบำรุงและได้คำตอบแบบไม่ประหลายใจ คือ “ ผมมีหน้าซ่อม ไม่ได้มีหน้าตรวจสอบ คนใช้ต้องตรวจสอบเองสิ ” 

ผลจากการเดินดูสายการผลิต สิ่งที่ต้องเริ่มปฎิบัติงานระหว่างทีมผลิตและซ่อมบำรุงคือ จัดทำและตั้งมาตรฐาน  การทำความสะอาด ตรวจสอบ และหล่อลื่น   ซึ่งแนวทางในการจัดเตรียมมาตรฐานเพื่อที่จะทำให้โอเปอเรเตอร์ทำงานได้ง่ายถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้

1.หัวข้อตรวจสอบ (Inspection items) มีอะไรบ้างที่ต้องทำความสะอาด ตรวจเช็ค และหล่อลื่นเพื่อดูแลรักษาเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพปกติ หัวหน้างานควรชี้แนะส่วนที่ขาดอยู่หรือส่วนที่ซ้ำกันอยู่

2.จุดสำคัญ (Key Point) เป็นการชี้ให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากชิ้นส่วนนี้เกิดสกปรก หลวมหรือหล่อลื่นไม่เพียงพอวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถจดจำถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง คำแนะนำจากหัวหน้างานในสิ่งเหล่านี้จึงมีความจำเป็นมาก

3.วิธีการ (Method) เลือกวิธีการตรวจเช็คที่ง่ายและเหมาะสมที่สุดคิดค้นสร้างวิธีการควบคุมโดยการมอง (Visual control) เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจเช็คได้ถูกต้องและเชื่อถือได้

4.เครื่องมือ (Tools) เลือกเครื่องมือที่จะใช้ในการทำความสะอาดหล่อลื่น และตรวจสอบ พร้อมติดป้ายชื่อให้ชัดเจน

5.เวลา (Times) กำหนดเวลาที่จะใช้ในแต่ละงาน และกำหนดเป้าหมายการลดเวลาโดยการปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ ให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและ ลดเวลาการทำงานให้น้อยที่สุด

6.ช่วงเวลา (Interval) กำหนดความถี่ในการตรวจสอบและวัดความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อยืดช่วงเวลาการตรวจให้ยาวขึ้น งานบางอย่างต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการบำรุงรักษา เช่น การเปลี่ยนถ่ายสารหล่อลื่น เป็นต้น

7.ผู้รับผิดชอบ (Responsibility) กำหนดให้มีผู้ดูแลรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีการหลงลืม และให้ทุกคนมีบทบาทในการสร้างความรู้สึกในการเป็นเจ้าของเครื่องจักรมากขึ้น

ในการกำหนด Cleaning, Inspection, Lubrication, Tightening นั้น ผมได้แอบนำเทคนิคจาก AM Step 3 มาใช้ในการทำงานครั้งนี้และเป็นการสร้างการควบคุมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง Step 1 เพื่อตรวจเช็คและหาจุดบกพร่อง

#วิศวกรเค้นประสิทธิภาพ #hozenkaizen